ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา 2559

ธรรมเมกขสถูป สถานที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงจุดที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์
ธรรมเมกขสถูป สถานที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงจุดที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์

วันอาสาฬหบูชา ในปี พ.ศ. 2559 นี้ ตรงกับวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2559 โดยวันอาสาฬหบูชานั้น เป็นวันที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา หรือแสดงหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้ขึ้นเป็นครั้งแรก

ในวันนี้พุทธศาสนิกชนหลายท่าน ย่อมทราบกันดีแล้วว่า ทุกวันขึ้น 15 คำ เดือน 8 ของทุกปี จะตรงกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง นั่นก็คือ “วันอาสาฬหบูชา” ดังนั้น วันอาสาฬหบูชา มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ใครยังไม่รู้ มาติดตามประวัติ และความสำคัญของวันนี้กันเลยค่ะ

ความหมายของคำว่า “อาสาฬหบูชา”

คำว่า “อาสาฬหบูชา” นั้น เราสามารถอ่านออกเสียงได้ 2 แบบ คือ อา-สาน-หะ-บู-ชา และ อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา โดยจะประกอบไปด้วยคำ 2 คำ ก็คือ อาสาฬห ซึ่งมีความหมายในทางจันทรคติว่า เดือน 8 และคำว่า บูชา ที่แปลว่า การบูชา เมื่อนำคำเหล่านี้มารวมกันก็จะได้ความหมายว่า การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อเป็นการระลึกนึกถึงเหตุการณ์ที่มีความสำคัญที่เกิดขึ้นในเดือน 8 นั่นเอง

ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา
ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา

ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาขึ้นครั้งแรก ภายหลังจากได้ตรัสรู้แล้ว 2 เดือน โดยพระองค์ได้ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ซึ่งได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แห่งเมืองพาราณสี แคว้นมคธ กระทั่งพระอัญญาโกณฑัญญะสามารถบรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังถือว่าวันนี้เป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบองค์สามอย่างบริบูรณ์พร้อมครั้งแรกในโลก คือ มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ได้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราชเป็นเวลา 45 ปี

สำหรับพระธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ซึ่งมีความหมายว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม โดยหลังจากผ่านปฐมเทศนาหรือเทศนากัณฑ์ครั้งแรกที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงจบลงไปแล้วนั้น พระอัญญาโกณฑัญญะก็บรรลุจนได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จากนั้นจึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาต่อไป ต่อมาพระพุทธเจ้าก็ทรงประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” พระโกณฑัญญะจึงถือเป็นพระอริยสงฆ์รูปแรกของพระพุทธศาสนา จากนั้นพระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นลำดับต่อมา

ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา
ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา

ใจความสำคัญในการแสดงปฐมเทศนา ประกอบด้วยหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ ดังนี้

1.มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง

เป็นข้อปฏิบัติในทางสายกลาง โดยเป็นไปตามความเหมาะสมถูกต้องเพื่อการบรรลุถึงเป้าหมาย มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอนเอียงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเอียงสุดทั้ง 2 อย่าง คือ

การหมกมุ่นกับความสุขที่เกิดขึ้นทางกาย คือ การมัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง โดยรวมเรียกว่า เป็นความหลง เพลิดเพลินไปกับการหมกมุ่นอยู่ในกามสุข หรือกามสุขัลลิกานุโยค

การสร้างความลำบากให้แก่ตนเอง คือ การดำเนินชีวิตไปอย่างเลื่อนลอย เช่น การพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการบำเพ็ญตบะด้วยการทรมานตน เป็นต้น ซึ่งการดำเนินชีวิตในแบบที่ทำให้เกิดความทุกข์แก่ตนเอง โดยรวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

ดังนั้น เพื่อเป็นการละเว้นจากการปฏิบัติในเส้นทางเหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องอาศัยทางสายกลางเป็นหลักยึดเหนี่ยวในการปฏิบัติ โดยเป็นแนวทางดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญา ซึ่งมีหลักปฏิบัติประกอบด้วยกันถึง 8 ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ซึ่งได้แก่

1.สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คือ รู้และมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง เห็นไปตามที่เกิดขึ้นจริง

2.สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คือ มีความคิดอย่างสุจริต ตั้งใจทำแต่สิ่งที่ดีงาม

3.สัมมาวาจา การเจรจาชอบ คือ กล่าวเฉพาะแต่คำสุจริต

4.สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ คือ ทำเฉพาะสิ่งที่เป็นสุจริต สิ่งที่ดีงามในทางถูกต้อง

5.สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ การประกอบสัมมาชีพหรือการประกอบแต่อาชีพที่สุจริต

6.สัมมาวายามะ ความพยายามชอบ คือ การละเว้นความชั่ว ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งดีงาม

7.สัมมาสติ ความระลึกชอบ คือ การประพฤติตนด้วยจิตสำนึกอยู่เสมอ ไม่เผลอทำในสิ่งที่ผิดพลั้งพลาด

8.สัมมาสมาธิ การตั้งจิตมั่นชอบ คือ การควบคุมจิตใจให้แน่วแน่มั่นคง ไม่ไปมัวคิดกังวลฟุ้งซ่านในสิ่งต่างๆ

ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา
ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา

2.อริยสัจ 4

เป็นความจริงอันประเสริฐของอริยะ คือ บุคคลผู้ห่างไกลจากกิเลส 4 ประการ อันได้แก่

1.ทุกข์

ปัญหาต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นในมนุษย์ บุคคลจึงต้องกำหนดรู้ตามให้เท่าทันความเป็นจริงว่าคือ อะไร  ต้องกล้าที่จะยอมรับ กล้าเผชิญหน้า สู้กับปัญหาความเป็นจริง และควรเข้าใจสภาวะโลกว่า สรรพสิ่งเป็นของไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา เพื่อไม่ให้เกิดความยึดมั่น ถือมั่น

2.สมุทัย

เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ หรือสาเหตุของการเกิดปัญหาต่างๆ อันเป็นตัวการสำคัญของความทุกข์ คือ ตัณหา หรือเส้นเชือกแห่งความอยาก ความปรารถนาต่างๆ โดยจะสัมพันธ์หรือเกี่ยวโยงไปกับปัจจัยอื่นๆ จนนำมาซึ่งความทุกข์กาย ทุกข์ใจ

3.นิโรธ

ความดับทุกข์ คือ เริ่มต้นด้วยชีวิตใหม่ที่เป็นอิสระ ดำเนินชีวิตโดยรู้เท่าทันโลกและความเป็นไปของสรรพชีวิต ดำเนินชีวิตอย่างชาญฉลาดโดยการใช้สติปัญญาควบคุมจิตใจตนเอง

4.มรรค

หนทางแห่งการดับทุกข์ โดยใช้มรรคมีองค์ 8 ประการดังที่กล่าวไว้ข้างต้น มาเป็นหลักการดำเนินชีวิตในทางที่ถูกต้องดีงาม

กิจกรรมสำคัญในวันอาสาฬหบูชา
กิจกรรมสำคัญในวันอาสาฬหบูชา

กิจกรรมสำคัญในวันอาสาฬหบูชา

สำหรับพิธีกรรมโดยทั่วไปที่ชาวพุทธนิยมทำกันในวันอาสาฬหบูชา ก็คือ การทำบุญตักบาตร สวดมนต์ ภาวนา รักษาศีล ฟังธรรมเทศนา และเวียนเทียนตอนค่ำที่วัดใกล้บ้าน ซึ่งการเวียนเทียนเป็นพิธีกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา นับเป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงามของชาวพุทธ

ดังนั้น พุทธศาสนิกชนชาวไทยจึงควรเข้าวัด ทำบุญ ปฏิบัติธรรมเพื่อระลึกนึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสจะได้เป็นภาชนะรองรับบุญใหญ่ที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชาด้วยนั่นเอง

เวลาประเทศไทยขณะนี้

Add a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *