ประวัติและความสำคัญของวันเข้าพรรษา 2559

ประวัติและความสำคัญของวันเข้าพรรษา
ประวัติและความสำคัญของวันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษาในปี 2559 ตรงกับวันพุธที่ 20 กรกฎาคม เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งวันนี้เป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ตลอดช่วงฤดูฝน โดยมีกำหนดพักประจำ ไม่ไปค้างแรมหรือพักที่อื่นเป็นเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ หรือที่เราเรียกกันว่าการ “จำพรรษา” นั่นเอง

ประวัติของวันเข้าพรรษา

คำว่า “เข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” โดยมีความหมายว่า พระภิกษุสงฆ์จะต้องพักอยู่ประจำวัดใดวัดหนึ่งตลอดระยะเวลาของฤดูฝน เหตุก็เนื่องจากในสมัยพุทธกาล พระภิกษุจะมีหน้าที่ต้องจาริกไปโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสอนแก่ประชาชนทั่วไปในสถานที่ต่างๆ โดยไม่ได้มีที่พักอาศัยแบบอยู่ประจำ แม้แต่ในช่วงฤดูฝนก็ตาม ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ชาวบ้านตำหนิเอาว่าไปเหยียบข้าวกล้า และพืชพรรณอื่นๆ ที่ปลูกไว้จนได้รับความเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงวางระเบียบของการจำพรรษาให้แก่พระภิกษุใหม่ โดยให้พักอยู่ประจำที่เป็นระยะเวลาตลอด 3 เดือน ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เรียกว่า “ปุริมพรรษา”

แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็จะเลื่อนวันเข้าพรรษามาเป็นวันแรม 1 ค่ำ ของเดือนแปดหลัง และวันออกพรรษาก็จะตรงกับวันขึ้น 15 คำ เดือน 11 โดยเรียกว่า “ปัจฉิมพรรษา” เว้นแต่ว่าพระสงฆ์จะมีกิจธุระ คือ เมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถกลับได้ในทันทีก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ โดยคราวหนึ่งต้องไม่เกิน 7 คืน ซึ่งเรียกว่า “สัตตาหะ” หากเกินกำหนดนี้ไปก็จะถือว่าพระภิกษุรูปนั้นไม่ได้รับประโยชน์จากการอยู่จำพรรษา จัดว่าพรรษาขาดนั่นเอง

กรณีที่เป็นข้อยกเว้นให้พระภิกษุอยู่จำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วันนั้น ได้แก่…

1.การเดินทางไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่มีการเจ็บป่วย

2.การเดินทางไปเพื่อระงับภิกษุหรือสามเณรที่อยากสึก มิให้สามารถสึกได้

3.การเดินทางไปเพื่อปฏิบัติกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น ไปหาอุปกรณ์มาใช้ในการซ่อมแซมกุฎิที่มีความชำรุดเสียหาย

4.หากทายกนิมนต์เพื่อไปทำบุญ ไปร่วมฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศล

ประวัติและความสำคัญของวันเข้าพรรษา
ประวัติและความสำคัญของวันเข้าพรรษา

ในระหว่างที่เดินทาง หากตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี และหากพระภิกษุสงฆ์เดินทางเข้ามาในหมู่บ้านหรือในเมืองทันก็สามารถหาที่พักได้ตามสมควร แต่หากมาถึงไม่ทันก็จำเป็นจะต้องพึ่งพาอาศัยโคนต้นไม้ใหญ่เพื่อเป็นที่สำหรับพักแรม เมื่อชาวบ้านเห็นพระภิกษุได้รับความยากลำบากจากการพักแรมอาศัยเช่นนั้น จึงร่วมใจช่วยกันปลูกสร้างเพิงขึ้น เพื่อให้ท่านได้พักอาศัยกันแดดกันฝน และยังสามารถพักรวมกันได้หลายรูปอีกด้วย ซึ่งที่พักในลักษณะนี้เรียกกันว่า “วิหาร” แปลว่า “ที่อยู่พระสงฆ์”

เมื่อช่วงออกพรรษามาถึง หลังจากท่านจะออกจาริกตามกิจของท่านต่อไป และเมื่อหน้าฝนหวนคืนมาอีกครั้ง ท่านก็จะเดินทางกลับมาพักแรมที่เดิมอีก เนื่องจากค่อนข้างสะดวกในการพักแรมอาศัย ขณะเดียวกัน พระภิกษุสงฆ์บางท่านก็พักแบบอยู่ประจำไปเลยก็มีเช่นกัน อีกทั้งเศรษฐีผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาก็ยังเลือกสรรสถานที่เงียบสงบ ผู้คนไม่พลุกพล่าน และไม่อยู่ห่างไกลจากชุมชนเท่าไรนัก เพื่อสร้างเป็นที่พักสำหรับสงฆ์ ซึ่งเรียกว่า “อาราม” โดยถือเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ดั่งเช่นในปัจจุบันนั่นเอง

สำหรับเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตที่ให้มีติดตัวอยู่ประจำนั้นก็มีเพียงแค่อัฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ รัดประคด เข็ม บาตร หม้อกรองน้ำ และมีดโกน อีกทั้งกว่าพระจะหาที่พักค้างแรมได้ บางครั้งก็เปียกปอนจากสายฝนมา ชาวบ้านคนไหนที่ใจบุญก็ได้ทำบุญถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับพระภิกษุเพื่อให้ท่านได้มีผ้าไว้สำหรับผลัดเปลี่ยน และยังถวายข้าวของเครื่องใช้จำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงวันเข้าพรรษานี้อีกด้วย เพราะเหตุนี้ จึงทำให้กลายเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

และแม้การเข้าพรรษาจะถือว่าเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตใจเลื่อมใสศรัทธารักในการทำบุญก็ยิ่งนับเป็นโอกาสอันดีงามที่จะได้เร่งทำบุญรักษาศีล และชำระล้างจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสกันมากยิ่งขึ้น โดยก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านจึงมักไปช่วยพระสงฆ์ทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฎิวิหาร และงานอื่นๆ ของพระสงฆ์ ครั้นเมื่อวันเข้าพรรษาเดินทางมาถึง ชาวบ้านก็จะนิยมไปร่วมทำบุญตักบาตร พร้อมถวายเครื่องสักการะบูชา ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ธูปเทียน และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ สบู่และยาสีฟัน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่นิยมปฏิบัติกันในวันนี้นั่นก็คือ การฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด อีกทั้งบางคนยังตั้งใจงดเว้นจากอบายมุขต่างๆ เช่น งดดื่มสุรา และงดฆ่าสัตว์ เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้น ในวันเข้าพรรษานี้ บิดามารดาก็มักจะจัดพิธีอุปสมบทให้แก่บุตรหลานของตนเอง โดยเชื่อกันว่าการได้บวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างช่วงเข้าพรรษานั้น จะได้รับอานิสงส์ผลบุญสูงอย่างมากทีเดียว

ประวัติและความสำคัญของวันเข้าพรรษา
ประวัติและความสำคัญของวันเข้าพรรษา

ประเพณีสำคัญในวันเข้าพรรษา

เมื่อวันเข้าพรรษาใกล้มาถึง หลายพื้นที่มักจัดเตรียมงานประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา และนี่ก็นับเป็นประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว เพราะเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล โดยจะจัดขึ้นเมื่อใกล้ถึงช่วงฤดูเข้าพรรษา ในการหล่อเทียนเข้าพรรษานี้จะจัดกันเป็นประจำทุกปี เนื่องจากในระยะเข้าพรรษา เป็นช่วงที่พระภิกษุจะต้องสวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นเป็นประจำทุกวัน ซึ่งในพิธีการดังกล่าวจำเป็นจะต้องจุดธูปเทียนบูชาด้วย ด้วยเหตุนี้ เหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงพร้อมเพรียงใจกันร่วมหล่อเทียนพรรษา เพื่อให้พระภิกษุได้ไว้สำหรับจุดเพื่อทำพิธีดังกล่าว และยังนับเป็นกุศลทานอย่างหนึ่ง โดยเชื่อกันว่าการให้ทานด้วยสิ่งของที่เป็นแสงสว่าง ย่อมมีอานิสงฆ์ช่วยเพิ่มพูนดวงปัญญาให้สว่างไสวด้วยนั่นเอง

ประเพณีการหล่อเทียนเข้าพรรษาที่จัดขึ้นตามชนบทนั้น มักจัดขึ้นกันอย่างสนุกสนานเอิกเกริกกันมากทีเดียว โดยภายหลังจากหล่อเทียนเสร็จแล้ว ก็จะมีการแห่เทียนเข้าพรรษารอบพระอุโบสถ 3 รอบ จากนั้นจึงนำเทียนขึ้นไปบูชาพระเป็นเวลาตลอด 3 เดือน นอกจากนี้ บางแห่งยังจัดประกวดตกแต่งเทียนเข้าพรรษาอย่างงดงามตระการตา โดยมีการจัดขบวนแห่เทียนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนอันสวยงามอลังการ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งงานประจำปีท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ที่สร้างความฮือฮาและทำให้ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษานั้น กลายเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชาวพุทธที่ควรค่าแก่การสืบสานต่อไปยิ่งนัก

ประวัติและความสำคัญของวันเข้าพรรษา
ประวัติและความสำคัญของวันเข้าพรรษา

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา

1.กิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา

2.กิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝนและถวายจตุปัจจัย แก่พระภิกษุสามเณร

3.ทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา และรักษาอุโบสถศีล

4.ตั้งจิตอธิษฐานเพื่อละเว้นจากอบายมุขต่างๆ

วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกหนึ่งวันที่มีคุณค่า ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยจึงควรตระหนักถึงความหมายและความสำคัญของวันนี้ โดยตั้งใจประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ดี ด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนาให้เป็นพื้นฐานเบื้องต้นในการดำเนินชีวิต เท่านี้ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ของการเป็นชาวพุทธได้อย่างดีงามแล้ว

เวลาประเทศไทยขณะนี้

Add a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *